Arte Povera ศิลปะที่สร้างขึ้นจากสิ่งไร้ค่า

ศิลปะที่หลายคนนึกถึงย่อมต้องเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสวยงามอันสรรสร้างขึ้นจากสิ่งที่งดงาม แต่รู้หรือไม่ว่ามีศิลปะหนึ่งที่สร้างขึ้นจากสิ่งที่ไร้ค่าที่หลายคนมองข้ามว่าไม่น่าและไม่ควรที่จะนำมาสร้างเป็นงานศิลปะเลย ยกตัวอย่างเช่น ดิน ก้อนหิน ถ่านหิน ไปจนถึงสิ่งปฏิกูลอย่างอุจจาระ โดยศิลปะนี้ถูกเรียกว่า ‘อาร์เต้ โพเวร่า’ (Arte Povera)

          อาร์เต้ โพเวร่า หรือ Poor art และอีกชื่อหนึ่งคือ Impoverished art แปลอย่างตรงตัวก็คือ ‘ศิลปะอนาถา’ เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้า (avant-garde) ที่โดดเด่นและทรงอิทธิพลที่สุดในยุโรป โดยศิลปะ อาร์เต้ โพเวร่า เริ่มขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1960s ถึงกลางทศวรรษ 1970s ในประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความไม่สงบทางการเมือง ทำให้เหล่าศิลปินรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าของอิตาลีที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบสุดขั้วรวมตัวกันทำงานศิลปะจากวัสดุที่ไร้คุณค่าไร้ราคาที่มีอยู่เกลื่อนกลาดอยู่ทุกหนทุกแห่ง รวมถึงของเก่า ของเหลือใช้ที่ชำรุดทรุดโทรม มาสร้างเป็นงานศิลปะ ซึ่งวัสดุที่ใช้เน้นความธรรมดาที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปในชีวิตประจำวันไปจนถึงการใช้ของที่เรียกได้ว่าน่าอดสู เช่น ผ้าขี้ริ้ว กระดาษหนังสือพิมพ์ และวัสดุในยุคก่อนยุคอุตสาหกรรมอย่าง ดิน ก้อนหิน ถ่านหิน ไปจนถึงสิ่งปฏิกูลอย่างอุจจาระ โดยล้วนแต่เป็นของที่ตรงกันข้ามอย่างยิ่งกับวัสดุตามจารีตที่ศิลปินสมัยนั้นจะใช้วัสดุที่มีความประณีต อย่างผ้าใบ หินอ่อน และสำริด  ทั้งนี้พวกเขายังใช้วัสดุที่ไม่แข็งแรงคงทนและเสื่อมสลายง่ายดายตามกาลเวลาด้วย เนื่องจากต้องการแสดงออกถึงการต่อต้านคุณค่าความงามตามธรรมเนียม และคุณค่าทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นโดยสถาบันของรัฐ รวมถึงความก้าวหน้าของระบบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งยังต่อต้านศิลปะสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะนามธรรมของยุโรปในช่วงทศวรรษ 1950s และปฏิเสธค่านิยมของศิลปะมินิมอลลิสม์ เนื่องจากศิลปะมินิมอลลิสม์ ถือเป็นศิลปะที่รับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและระบบอุตสาหกรรม แม้พวกเขาจะนิยมทำงานประติมากรรมโดยใช้วัสดุอันเรียบง่ายในการทำงานศิลปะก็ตาม

          ตัวอย่างผลงานของศิลปะแนวอาร์เต้ โพเวร่าที่โด่งดังนั่นก็คือ Venus of the Rags (1967, 1974) ของ Michelangelo Pistoletto ที่จัดวางประติมากรรมสลักหินอ่อนเทพีวีนัสยืนหันหลังให้ผู้ชมและมองไปยังกองผ้าขี้ริ้วและเสื้อผ้าเหลือใช้ที่กองพะเนินโดยเป็นการแสดงความขัดแย้งระหว่างวัตถุสองประเภทที่ถูกจับมาวางด้วยกัน ซึ่งทำให้กระตุ้นผู้ชมให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการจับคู่ของสิ่งที่ขัดแย้งกัน ผลงานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่สื่อถึงการเชื่อมโยงศิลปะเข้ากับวิถีชีวิต และวิจารณ์สถาบันทางวัฒนธรรมของรัฐ ทั้งยังพยายามทำลายความเป็นธุรกิจของศิลปะอีกด้วย